ผิวหน้า

ทำความรู้จักกับ “ฝ้า” เพื่อรักษาและป้องกันอย่างถูกวิธี

ฝ้า

หนึ่งในปัญหาผิวหนังที่พบได้ในทุกเพศทุกวัยซึ่งส่งผลทำให้ผิวมีสีไม่สม่ำเสมอ มักจะมี “ฝ้า” รวมอยู่ในนั้น และเมื่อพูดถึงฝ้า ไม่ว่าใครก็ต่างรับรู้ถึงความยุ่งยากในการรักษา เพราะกว่าจะรักษาฝ้าให้รอยจางลงได้นั้นจะต้องเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม และใช้เวลาใส่ใจกับการดูแลฝ้าอยู่เสมอ ซึ่งในบทความนี้จะมากล่าวถึงฝ้าและข้อควรรู้ต่าง ๆ เพื่อให้คุณทำความเข้าใจก่อนรักษาฝ้าได้อย่างถูกวิธีค่ะ



ฝ้าคืออะไร 

ฝ้า

ฝ้า (melasma) คือ ปัญหาผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากเซลล์เมลาโนไซต์ (melanocyte) ถูกกระตุ้นให้ผลิตเม็ดสีเมลานินมากขึ้นผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยภายใน ส่งผลให้ผิวหนังเกิดฝ้าลักษณะเป็นรอยปื้นขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ มีสีน้ำตาล สีเทา สีดำ ซึ่งเป็นสีที่โดดจากสีผิวหนังปกติ ทำให้คุณอาจรู้สึกกังวลใจเมื่อพบฝ้าปรากฏบนผิว


สาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดฝ้า

ฝ้ามีสาเหตุเกิดจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เช่น

  • แสงแดด 

ภายในแสงแดดมีรังสี UVA ซึ่งเป็นรังสีที่เป็นตัวทำลายเซลล์ผิวให้มีความเหี่ยวย่น หรือไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวผลิตเม็ดสีให้เกิดเป็นฝ้า กระ จุดด่างดำได้

  • เครื่องสำอาง

การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนน สารปรอท สารสเตียรอยด์ซึ่งช่วยในเรื่องของการเพิ่มความขาวให้กับผิวนั้นมีส่วนไปกระตุ้นทำให้ผิวหน้าบางและมีโอกาสทำให้หน้าเป็นฝ้าสูง

  • ฮอร์โมน

ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงกว่าปกติ เช่น ผู้ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้ที่ทานยาคุม ผู้ที่ไม่มีประจำเดือนแล้ว จะมีโอกาสเป็นฝ้าต่าง ๆ รวมถึงฝ้าฮอร์โมนสูงขึ้น เพราะฮอร์โมนเหล่านี้มีส่วนทำให้เซลล์ผิวผลิตเม็ดสีเพิ่มขึ้น

  • กรรมพันธุ์ 

โดยปกติแล้วสมาชิกในครอบครัวมักจะถ่ายทอดพันธุกรรมให้กันจากรุ่นสู่รุ่นได้ เช่น พ่อแม่สู่ลูก ดังนั้นในกรณีรุ่นพ่อหรือรุ่นแม่มีฝ้า ก็จะส่งผลให้กรรมพันธุ์นั้น ๆ ถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกได้ด้วยเช่นกัน

  • สภาพร่างกาย

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น การผลัดเซลล์ผิวก็จะเสื่อมสภาพลง จึงทำให้กลุ่มที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นฝ้า กระ จุดด่างดำง่ายขึ้น และเพศหญิงก็มีโอกาสเป็นฝ้ามากกว่าเพศชาย


ฝ้ามีกี่ชนิด แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร?

ฝ้าแดด

ฝ้าแดด

ฝ้าแดด คือ ฝ้าที่เกิดจากผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรงหรืออาจได้รับแสงจากแหล่งอื่น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เซลล์เม็ดสีใต้ผิวหนังถูกกระตุ้นให้ผลิตเพิ่มจนผิดปกติ ฝ้าแดดมีลักษณะเป็นรอยปื้นหลากหลายขนาด มักมีสีน้ำตาลอ่อน-สีน้ำตาลเข้ม

ฝ้าตื้น

ฝ้าตื้น

ฝ้าตื้น (Epidermal Melasma) คือ ฝ้าที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าถูกกระตุ้นให้ผลิตเม็ดสี มีลักษณะเป็นรอยปื้นขอบชัด สีของฝ้าตื้นจะเป็นน้ำตาลไปจนถึงสีดำซึ่งสามารถรักษาให้รอยจางลงได้ไม่ยากเพราะเซลล์เม็ดสีที่เปลี่ยนสีอยู่ที่ผิวหนังชั้นนอก

ฝ้าลึก

ฝ้าลึก

ฝ้าลึก (Dermal Melasma) คือ ฝ้าที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังชั้นหนังแท้ผลิตเม็ดสีเยอะกว่าปกติ มีลักษณะเป็นปื้นกลืนกับผิวจนมองเห็นขอบฝ้ายาก สีของฝ้าที่ลึกพบจะเป็นสีน้ำตาล สีม่วง สีเทา สีดำ ซึ่งจะรักษายากกว่าฝ้าตื้นเพราะเซลล์เม็ดสีอยู่ลึกกว่า

ฝ้าผสม

ฝ้าผสม

ฝ้าผสม (Mixed Melasma) คือ ฝ้าที่มีลักษณะของฝ้าตื้นและฝ้าลึกผสมกัน มีสีน้ำตาล สีฟ้าเทา สีเทาและสีดำ จำเป็นจะต้องรักษาหลายรูปแบบเพื่อให้ผลลัพธ์ครอบคลุมปัญหาฝ้าที่กำลังเป็นอยู่

ฝ้าเลือด

ฝ้าเลือด

ฝ้าเลือด (Telangiectatic Melasma) คือ ฝ้าที่เกิดจากหลอดเลือดฝอยใต้ชั้นผิวหนังแท้ทำงานผิดปกติหรือเสื่อมสภาพ ทำให้เส้นเลือดแผ่ขยายตัวจนเกิดรอยของฝ้าบนผิว ฝ้าเลือดมีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ หรือเป็นปื้นสีแดง สีชมพู หรือสีน้ำตาลคล้ำกระจายบนผิว


บริเวณไหนบ้างที่มักเกิดฝ้า

โดยปกติแล้วฝ้าสามารถขึ้นได้ทั้งใบหน้าและลำตัว แต่ในกรณีของฝ้าที่หน้านั้นจะแบ่งตามบริเวณที่ฝ้ากระจายตัวเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

  • Centrofacial : เป็นฝ้าที่ขึ้นบริเวณหน้าผาก แก้ม จมูก ริมฝีปากบน
  • Malar : เป็นฝ้าที่ขึ้นบริเวณแก้ม จมูก
  • Mandibular : เป็นฝ้าที่ขึ้นบริเวณกรามหรือคาง

ปัญหาผิวหนังอื่น ๆ ที่อาจทำให้คุณเข้าใจว่าเป็นฝ้า

รอยดำ

รอยดำ (Post-Inflammatory Hyperpigmentation) คือ ร่องรอยที่เกิดจากผิวมีอาการระคายเคืองหรืออักเสบจากการแกะเกาผิวหรือจากสิว ทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นหนังแท้ผลิตเม็ดสีขึ้น รอยดำจะมีลักษณะเป็นจุดด่างดำเล็ก ๆ สีดำ สีเทา หรือสีน้ำตาล

กระ

กระ (Freckle) คือ ความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีที่ส่งผลให้บนผิวมีจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลหรือสีดำขึ้น กระมีลักษณะเห็นขอบชัดเจนต่างจากฝ้าที่จะเห็นขอบไม่ชัด มักขึ้นบริเวณใบหน้า ลำคอ และลำตัว ซึ่งมีโอกาสที่กระจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นถ้าหากดูแลผิวกายอย่างไม่เหมาะสมค่ะ

ผื่นแพ้สัมผัส

ผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) คือ ผื่นเล็ก ๆ สีแดงที่เกิดขึ้นจากผิวสัมผัสสารก่อการระคายเคืองหรือสัมผัสสารที่แพ้อยู่ ทำให้รู้สึกคัน แสบ ระคายเคืองผิวบริเวณที่สัมผัสสาร แต่ในบางครั้งผื่นแพ้สัมผัสอาจแพร่ขยายไปยังบริเวณอื่นได้ในกรณีที่เผลอไปแกะ เกาผิว

ปานดำโอตะ

ปานดำโอตะ (Nevus of Ota) คือ ปานที่มีลักษณะเป็นจุดเล็กเกาะตัวรวมกันเป็นกลุ่ม มีสีดำ สีเทา สีน้ำตาล สีเขียว มักขึ้นบริเวณโหนกแก้ม ใต้ตา ดั้งจมูก และยังสามารถเกิดบริเวณอื่น ๆ เช่น เยื่อบุตาขาว เยื่อแก้วหู ได้ด้วย ปานดำโอตะเป็นปานที่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิดและขนาดอาจขยายใหญ่ขึ้นตามอายุได้ 

จากปัญหาผิวหนังที่กล่าวไปข้างต้นนั้น แม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับฝ้ามากแต่ก็มีสาเหตุและอาการแตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเพื่อรับการรักษาที่ตรงกับปัญหาผิวหนังที่กำลังเป็นอยู่ค่ะ


วิธีที่สามารถรักษาฝ้าให้จางลง

อยากแก้ฝ้า ใช้วิธีไหนดี? ในปัจจุบันมีวิธีรักษาฝ้าหลากหลายมากขึ้น ซึ่งแต่ละวิธีก็จะใช้เวลาในการรักษาต่างกัน เพื่อให้คุณทราบข้อมูลสำหรับพิจารณาเลือกวิธีรักษาฝ้า ทางเราก็มีวิธีรักษาฝ้ารวมถึงกระที่ขึ้นบนใบหน้าให้จางลงมาแนะนำดังต่อไปนี้

ทำเลเซอร์

ในปัจจุบันมีผู้นิยมเลือกรักษาฝ้าด้วยการทำเลเซอร์ฝ้ามากขึ้น เนื่องจากเลเซอร์ฝ้าเป็นวิธีที่ใช้เวลารักษาไม่นาน แต่กลับได้ผลลัพธ์ค่อนข้างไว โดยที่เลเซอร์จะไม่ไปทำลายเซลล์ผิวบริเวณใกล้เคียง เครื่องเลเซอร์ที่นำมาใช้ในการรักษาฝ้าจะมี Pico Laser, Q-Switch Laser, Dual Yellow Laser ซึ่งเลเซอร์ดังกล่าวสามารถรักษาปัญหาผิวหนังอื่น ๆ เช่น สิว จุดด่างดำ รูขุมขนกว้าง ได้ด้วย

ฉีดใบหน้าใส

การฉีดใบหน้าใสเป็นการฉีดสารเข้าไปในชั้นผิวหนังเพื่อช่วยบำรุง ซ่อมแซมเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง ซึ่งสารเหล่านั้นก็จะมีส่วนที่ช่วยให้ฝ้าของคุณจางลงได้ โดยการฉีดสารที่นิยมจะมี Rejuran, Channel, เมโสหน้าใส เพราะสารจะช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวพร้อมช่วยบำรุงให้ผิวดูกระจ่างใสมากขึ้น

สครับผิว ลอกผิว

การสครับเป็นการขัดเซลล์ผิวสีที่เสื่อมสภาพออกไป และในส่วนของการลอกผิวจะเป็นการใช้สารเคมีทาบนผิวเพื่อลอกผิวชั้นนอก ซึ่งทั้งสองวิธีล้วนเป็นวิธีที่ช่วยรักษาฝ้ากระให้จางลงได้ แต่ก็มีโอกาสทำให้ผิวหน้าระคายเคืองและบอบบางลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรสครับหรือลอกผิวบ่อย ๆ

ยารักษาฝ้า

การใช้ยาลดฝ้ากระเป็นวิธีที่นำมาใช้รักษาฝ้ามาอย่างยาวนาน โดยจะมีทั้งรูปแบบครีม ยาเม็ด ยาฉีด ซึ่งตัวยาจะมีคุณสมบัติช่วยลดการผลิตเซลล์เม็ดสี ทำให้ผิวมีโอกาสเกิดฝ้าลดลง แต่ยาที่ใช้รักษาฝ้าบางชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นจึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น

ฝังเข็มรักษาฝ้า

หลายคนอาจเข้าใจว่าการฝังเข็มเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ใช้รักษาโรคทั่วไป แต่ที่จริงแล้วการฝังเข็มสามารถใช้รักษาฝ้าได้ด้วย โดยจะใช้เข็มขนาดเล็กจิ้มลงผิวที่เป็นฝ้าเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและช่วยให้ระบบในร่างกายสมดุล ทำให้ใบหน้าที่เป็นฝ้าค่อย ๆ อาการดีขึ้น แต่จะต้องให้ผู้ที่มีความชำนาญเป็นผู้ฝังเข็มให้เท่านั้นเพื่อความปลอดภัย


วิธีป้องกันผิวของคุณจากฝ้า

แก้ฝ้า

แม้ว่ารักษาฝ้าให้รอยจางลงแล้วแต่ฝ้าก็มีโอกาสขึ้นซ้ำได้อยู่ ดังนั้น คุณควรดูแลตนเองเพิ่มเติมตามวิธีดังต่อไปนี้เพื่อลดโอกาสการเกิดฝ้าซ้ำค่ะ

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีแดดแรง 
  • สวมใส่หมวก เสื้อแขนยาว หรือกางร่มกรณีที่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แดดแรง
  • ทาครีมกันแดดทุก ๆ 2-4 ชั่วโมงเพื่อให้ครีมกันแดดมีประสิทธิภาพป้องกันฝ้า กระ ได้อย่างต่อเนื่อง
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีมาตรฐาน
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ผิวแข็งแรงอยู่เสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือถ้ามีความเครียดให้ทำกิจกรรมเพื่อลดความเครียด

คำถามที่พบบ่อย

ฝ้าสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม?

ฝ้าไม่สามารถรักษาให้หายขาดถาวรได้ตราบใดที่เซลล์ผิวยังคงสามารถผลิตเม็ดสีได้อยู่ ถึงแม้ว่าจะรักษาฝ้าจนอาการดีขึ้นแล้วก็มีโอกาสที่ฝ้าจะขึ้นซ้ำได้ ถ้ามีปัจจัยไปกระตุ้นให้เซลล์ผลิตเม็ดสีขึ้นมาอีก แต่คุณสามารถดูแลผิวให้แข็งแรงเพื่อลดโอกาสการเกิดฝ้าขึ้นซ้ำได้ค่ะ 

มีสมุนไพรที่สามารถรักษาฝ้าหรือไม่?

สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาฝ้าด้วยตนเองด้วยสมุนไพร คุณสามารถนำสมุนไพรที่มีส่วนช่วยผลัดเซลล์ผิว เช่น ใบบัวบก, มะนาว, ขมิ้น, มะขามเปียก, น้ำผึ้ง, มะละกอ มาพอกให้ฝ้าจางลงได้ แต่หลังจากพอกหน้าเสร็จจะต้องทำความสะอาดใบหน้าให้สะอาดไม่มีสิ่งตกค้าง เพราะถ้ามีสิ่งตกค้างจะทำให้ใบหน้าเกิดสิวอุดตันขึ้นแทน

ฝ้าเป็นต้นเหตุของมะเร็งผิวหนังใช่หรือไม่?

ฝ้าไม่ได้เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง แต่มีมะเร็งผิวหนังบางประเภทที่มีลักษณะคล้ายฝ้า ซึ่งก็คือมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา โดยมะเร็งประเภทนี้มีสาเหตุเกิดจากเซลล์เมลาโนไซต์ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดจุดที่มีลักษณะไม่สมส่วน สามารถเปลี่ยนขนาด สี และอาจส่งผลให้เป็นแผลที่มีเลือดออกได้

ฝ้าใช้เวลารักษานานไหมกว่าจะดีขึ้น?

ระยะเวลาที่ใช้แก้ฝ้าจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของฝ้าและวิธีที่เลือกใช้รักษา โดยเฉลี่ยแล้วจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนหลังจากเข้ารับการรักษาประมาณ 1-3 เดือน ทั้งนี้ถ้าฝ้าที่หน้าเป็นฝ้าลึกก็จะใช้เวลารักษานานกว่าฝ้าตื้น หรือใช้ยาทารักษาฝ้าก็จะใช้เวลารักษานานกว่าการทำเลเซอร์ค่ะ


ฝ้ารักษาให้จางลงได้ ถ้าเข้าใจเกี่ยวกับฝ้าอย่างถูกต้อง

ฝ้าเป็นหนึ่งในปัญหาที่เมื่อเป็นแล้วจะอยู่คู่ใบหน้าของคุณในระยะยาว แต่ถ้าคุณทราบชนิดของฝ้าที่เป็นอยู่ก็จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้หากคุณต้องการรักษาฝ้า รักษากระ หรือรักษาปัญหาผิวหน้าอื่น ๆ ให้ใบหน้าดูเรียบเนียน กระจ่างใสมากขึ้น สามารถเข้าพบแพทย์จากรมย์รวินท์คลินิกที่สาขาใกล้คุณ เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเป็นผู้ประเมินและรักษาตามลักษณะอาการปัญหาผิวหนังที่เป็นอยู่ได้ค่ะ


Related Posts