เสียงกรนไม่ใช่เรื่องปกติที่ควรละเลย นอกจากส่งผลกระทบต่อตนเองแล้วยังส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมเตียงได้อีกด้วย อย่าปล่อยปละละเลยที่จะแก้ไขปัญหานอนกรน เพื่อคุณภาพการนอนหลับที่ดียิ่งขึ้นด้วยการทำหัตถการเลเซอร์นอนกรน รักษาปัญหานอนกรนได้ไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้น ทำเสร็จกลับบ้านได้ทันที
อาการนอนกรนเป็นอย่างไร?
อาการนอนกรน คือ การที่มีเสียงดังเป็นจังหวะการหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งเกิดจากการที่อากาศถูกกีดขวางจนทำให้ทางเดินอากาศตีบแคบลง อากาศที่พยายามจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจกระทบกับเนื้อเยื่อในช่องปากจนเกิดเป็นเสียงดังขึ้นมานั่นเอง
หลายคนอาจทราบว่าตนเองมีอาการนอนกรนจากการได้ยินเสียงกรนของตัวเอง มีอาการเพลีย นอนไม่พอ หรือเจ็บคอ คอแห้งเมื่อตื่นนอน แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าตนเองนอนกรนจนกว่าเพื่อนร่วมเตียงจะบอกค่ะ
สาเหตุของการนอนกรนมีอะไรบ้าง?
หลายคนอาจเข้าใจว่าการนอนกรนเกิดจากความเหนื่อยล้า แต่ความเป็นจริงแล้ว การนอนกรนมีสาเหตุที่มากกว่านั้น โดยสาเหตุที่ทำให้นอนกรนมีดังนี้ค่ะ
- ภาวะน้ำหนักเกิน : ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมักจะมีการสะสมไขมันที่ช่องคอมากขึ้น จนอาจไปเบียดบังช่องทางเดินหายใจได้
- เพดานในช่องปากหย่อน : เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เมื่อเพดานช่องปากหย่อนตัวจะทำให้ไปปิดกั้นทางเดินอากาศ เมื่ออากาศไหลเข้ามากระทบจึงเกิดเป็นเสียงกรนนั่นเอง
- ภูมิแพ้ หรือเป็นหวัด : เนื่องจากมีการหลั่งสารคัดหลั่งออกมามากจึงมีโอกาสที่จะไปขัดขวางทางเดินหายใจ
- ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือจมูกและช่องคออักเสบ : อาการอักเสบจะทำให้เนื้อเยื่อบวม ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง
- ใบหน้าผิดรูป : เช่น ผู้ที่มีคางสั้น, จมูกคด, กระดูกช่องปากแคบ, ลิ้นไก่ยาวใหญ่กว่าปกติ ทำให้ช่องทางหายใจแคบลง จึงมีโอกาสนอนกรนได้มากกว่า
- ระดับฮอร์โมน : เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะมีโอกาสนอนกรนมากเพราะระดับฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง
อันตรายจากการนอนกรน ไม่ใช่เพียงแค่อ่อนล้า
การนอนกรนเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คิด หากปล่อยปละละเลย อาจนำมาสู่ปัญหาเหล่านี้ได้ค่ะ
- พักผ่อนไม่เพียงพอ : การนอนหลับและกรนไปด้วยจะทำให้รู้สึกนอนหลับไม่สนิท และพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ เป็นผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนทั้งวัน
- สมองขาดออกซิเจน : เพราะร่างกายจะได้รับอากาศน้อยลงจากการมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ : หากอาการนอนกรนรุนแรง ช่องทางเดินหายใจตีบตันมาก ก็มีโอกาสที่จะทำให้อากาศไม่สามารถไหลเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจได้
- ผลกระทบต่อสุขภาพ : จากการนอนไม่เพียงพอ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอันตรายมากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ ฯลฯ
- ผลกระทบต่อสุขภาพจิต : อาจทำให้มีความเครียด อารมณ์เสียง่าย รวมถึงอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล
นอกจากนี้ การกรนยังส่งผลกระทบในด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมเตียง เนื่องจากเสียงกรนอาจสร้างความรำคาญ ทำให้เพื่อนร่วมเตียงนอนหลับได้ยากค่ะ
วินิจฉัยอาการนอนกรน หาสาเหตุ ความรุนแรง เพื่อเตรียมตัวรักษา
หากคุณทราบว่าตนเองมีภาวะนอนกรน หรือมีความกังวลใจว่าตนเองมีภาวะนอนกรน สามารถเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยการนอนกรน เพื่อวางแผนรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ โดยการวินิจฉัย จะมีแนวทางการวินิจฉัยดังนี้
- การสอบถามประวัติสุขภาพการนอน ทั้งจากตัวผู้ป่วยเองและจากเพื่อนร่วมเตียง
- การตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดสัดส่วนร่างกาย ตรวจประเมินช่องปาก ลำคอ ใบหน้า เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการวินิจฉัย
- การตรวจคุณภาพการนอนหลับ (Sleep test) ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อเก็บข้อมูลขณะนอนหลับ ได้แก่ การวัดระดับออกซิเจน การเต้นของหัวใจ ระดับความลึกของการนอนหลับ รวมไปถึงวัดระดับเสียงกรนและบันทึกภาพท่าทางขณะนอนหลับ
นอนกรน จบปัญหา รักษาด้วยเลเซอร์นอนกรน
การนอนกรนสร้างปัญหาให้คุณและเพื่อนร่วมเตียง ก่อนจะอาการรุนแรงขึ้น แนะนำให้รีบรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งถ้าหากมีอาการนอนกรนไม่รุนแรง และไม่ได้มีความผิดปกติในด้านโครงสร้างใบหน้าและช่องทางระบบหายใจ สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการ ‘เลเซอร์นอนกรน’ แก้ไขการนอนกรนได้ง่าย ๆ ใช้เวลาทำหัตถการไม่นานก็สามารถลดอาการนอนกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเลเซอร์นอนกรนนั้นจะเป็นการใช้พลังงานเลเซอร์ยิงเข้าไปบริเวณที่มีความหย่อนคล้อย เช่น เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม โคนลิ้น เพื่อให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวหดตัว กระชับ และเพิ่มให้ช่องทางผ่านของอากาศเปิดกว้างขึ้นนั่นเองค่ะ
ซึ่งข้อดีของการรักษานอนกรนด้วยเลเซอร์นั้นคือการช่วยแก้ไขอาการนอนกรนได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ลดเสียงกรนทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น และยังปลอดภัย เกิดผลกระทบหลังรักษาน้อย สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เลยทันที
การเตรียมตัวก่อนรักษาด้วยเลเซอร์นอนกรน
ต้องการรักษาอาการนอนกรนด้วยเลเซอร์นอนกรน จะต้องเตรียมตัวรักษาอย่างไรบ้าง?
- เตรียมผล Sleep test จากการตรวจคุณภาพการนอนหลับ สำหรับใช้ประเมินการรักษาด้วยเลเซอร์นอนกรน
- หากมียารับประทานเป็นประจำต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
- ระมัดระวังไม่ให้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ และระมัดระวังไม่ให้มีแผลในปาก
ขั้นตอนการรักษาด้วยเลเซอร์นอนกรน
รักษาด้วยเลเซอร์นอนกรนนั้นไม่ได้มีขั้นตอนที่มากและซับซ้อน ในวันที่เข้ารับการทำหัตถการ แพทย์จะสอดหัวโพรบ (Probe) เข้าไปในช่องปากและยิงเลเซอร์บริเวณที่ต้องการรักษา (เพดานอ่อน โคนลิ้น กระพุ้งแก้ม) มักจะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ระหว่างทำหัตถการอาจมีพักให้ผู้ป่วยกลั้วคอเนื่องจากการอ้าปากนาน ๆ อาจทำให้คอแห้งค่ะ
วิธีเลเซอร์รักษานอนกรนจะไม่ต้องฉีดยาชาหรือดมยาสลบ เมื่อทำหัตถการเสร็จก็สามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่ต้องพักฟื้น
การดูแลหลังรับการรักษาด้วยเลเซอร์นอนกรน
หลังทำหัตถการด้วยเลเซอร์นอนกรนอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกระคายคอระยะหนึ่ง เพื่อลดอาการระคายคอ สามารถดูแลตนเองหลังทำหัตถการเลเซอร์แก้นอนกรนได้ดังนี้
- งดอาหารรสจัด เผ็ดจัด เนื่องจากอาจทำให้ระคายคอหนักกว่าเดิมเป็นเวลา 1 สัปดาห์
- งดการดื่มน้ำเย็นหรือร้อนจัดเป็นเวลา 1 สัปดาห์
- พยายามดื่มน้ำบ่อย ๆ รักษาความชุ่มชื้นในปากและลำคอ
การดูแลตนเองเพิ่มเติมร่วมกับการทำเลเซอร์นอนกรน
การเลเซอร์นอนกรนช่วยแก้ไขปัญหาเนื้อเยื่อในช่องปากหย่อนยานจนอุดกั้นทางเดินหายใจ แต่สาเหตุการนอนกรนอาจไม่ได้มาจากปัญหาเนื้อเยื่อช่องปากหย่อนยานเพียงอย่างเดียว เพื่อให้การรักษานอนกรนให้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น แนะนำให้ดูแลตนเองด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อลดปัญหานอนกรน เช่น การลดน้ำหนัก เพื่อลดไขมันสะสมบริเวณคอ หรือการปรับท่านอนให้เหมาะสมหรือนอนหมอนสูงเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อหย่อนไปอุดกั้นทางเดินหายใจค่ะ
แนวทางการรักษาแบบอื่นนอกจากเลเซอร์นอนกรน
เลเซอร์นอนกรน เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาปัญหานอนกรน ซึ่งยังมีการรักษาปัญหานอนกรนวิธีอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น
- คลื่นความถี่วิทยุรักษานอนกรน : สามารถยกกระชับเนื้อเยื่อในช่องปากเพื่อลดความหย่อนคล้อยเช่นเดียวกับเลเซอร์ แต่อาจต้องใช้ยาชาก่อนทำหัตถการ
- เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) : เป็นอุปกรณ์การแพทย์สำหรับรักษาการนอนกรน โดยตัวเครื่องจะเป่าลมที่มีแรงดันที่เหมาะสมพอสำหรับการส่งอากาศเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ลดปัญหาได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอได้ดี
- ผ่าตัดรักษานอนกรน : สำหรับผู้ที่มีภาวะนอนกรนจากสาเหตุโครงสร้างส่วนใบหน้าและทางเดินหายใจส่วนบนผิดรูป เช่น การผ่าตัดแก้จมูกคด ผ่าตัดลดขนาดลิ้น ผ่าตัดปรับเลื่อนขากรรไกร ฯลฯ
- การใส่เครื่องมือในช่องปาก : ใช้สำหรับป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปกีดขวางทางเดินหายใจ
เปรียบเทียบเลเซอร์นอนกรนกับคลื่นความถี่วิทยุ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
การใช้เลเซอร์นอนกรนและคลื่นความถี่วิทยุแก้ไขนอนกรนเป็นหัตถการที่สามารถแก้ไขปัญหานอนกรนโดยไม่ต้องผ่าตัด สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เลยโดยไม่ต้องพักฟื้นเช่นกัน แต่ทั้งสองหัตถการนี้ก็ยังมีข้อแตกต่างค่ะ
การทำเลเซอร์นอนกรนนั้นจะใช้ Erbium:YAG Laser ทำให้บริเวณที่รักษาเกิดความกระชับและหดตัวขึ้น เปิดช่องให้อากาศสามารถไหลเข้าระบบทางเดินหายใจได้สะดวก ซึ่งการใช้เลเซอร์จะมีระดับความเจ็บที่น้อยจึงไม่ต้องใช้ยาชาก่อนทำหัตถการ ทั้งยังไม่ทำให้เลือดออกอีกด้วย แต่อาจต้องเข้ารับการทำเลเซอร์แก้กรนประมาณ 3 ครั้งต่อเนื่องเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนค่ะ
ในส่วนของการใช้คลื่นความถี่วิทยุ (RF) ก็สามารถทำให้บริเวณเนื้อเยื่อกระชับและหดตัวขึ้นได้เช่นกัน แต่เนื่องจากคลื่นวิทยุสามารถส่งพลังงานได้ลึก จึงสามารถเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนได้ไวเพียงการทำ 1-2 ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้คลื่นวิทยุอาจมีมากกว่า เช่น อาการเจ็บ ทำให้ต้องมีการใช้ยาชาก่อนทำหัตถการ รวมถึงหลังทำหัตถการเสร็จอาจมีเลือดออกหรืออาการบวมค่ะ
เลเซอร์นอนกรน ควรทำกี่ครั้งถึงเห็นผล?
เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจน แนะนำให้ทำเลเซอร์นอนกรนเริ่มต้นที่ 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จะห่างกันไม่เกิน 14 วัน หลังจากนั้นให้ทำครั้งละ 1 เดือนจนกว่าจะเห็นผล และหลังเห็นผลชัดเจนแล้ว เพื่อคงผลลัพธ์ที่ดี แนะนำให้เข้ามาทำหัตถการเลเซอร์นอนกรนซ้ำทุกปีค่ะ
เลเซอร์นอนกรน ทางเลือกรักษานอนกรนที่ปลอดภัย เพิ่มคุณภาพการนอนหลับที่ดี
การนอนกรน ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ระยะยาว เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต แนะนำให้รีบเข้ารับการรักษาจะดีที่สุด ที่รมย์รวินท์คลินิกเรามีบริการ Snore Laser เลเซอร์นอนกรน ยกกระชับกล้ามเนื้อทางเดินหายใจที่เคยหย่อนคล้อยให้กลับมากระชับอีกครั้ง พร้อมให้ความอ่อนโยน ไม่ระคายเคืองช่องปากและลำคอ สนใจสามารถสอบถามแพทย์เฉพาะทางได้ที่รมย์รวินท์คลินิกทุกสาขาค่ะ