สิว

ทำความรู้จัก “สิวฮอร์โมน” พร้อมแนวทางรักษาและป้องกันสิวที่เหมาะสม

รู้หรือไหม? การมีอารมณ์แปรปรวนจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ไม่สมดุลอาจทำให้เกิดสิวฮอร์โมนได้ ซึ่งสิวดังกล่าวพบได้ทุกช่วงวัยทั้งผู้ชายและผู้หญิง นอกจากฮอร์โมนจะไปกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังแล้ว การเกิดความเครียดสะสมก็ส่งผลให้เกิดสิวชนิดนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นบทความนี้รมย์รวินท์คลินิกจึงอยากแนะนำแนวทางการรักษาสิวฮอร์โมน และวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดสิวในระยะยาวกันค่ะ



สิวฮอร์โมนคืออะไร?

สิวฮอร์โมน คือ สิวอักเสบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมซ้ำ ๆ เป็นประจำ เช่น ช่วงก่อน-หลังมีประจำเดือนแต่ละรอบ, ช่วงมีความเครียดสะสม, ช่วงตั้งครรภ์ เป็นต้น การเกิดสิวฮอร์โมนนอกจากจะทำให้อารมณ์แปรปรวนแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการผลิตไขมันที่ต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้ผิวเกิดการอักเสบอีกด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วสิวฮอร์โมนจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงคล้ายสิวอักเสบทั่ว ๆ ไปอย่างสิวเห่อหรือสิวหัวช้าง เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บปวดและรู้สึกระคายเคืองผิวได้ 

สำหรับผู้หญิงอาจเรียกสิวนี้ว่า ‘สิวประจำเดือน’ เพราะเป็นสิวฮอร์โมนที่ขึ้นช่วงมีประจำเดือนเสมอ โดยมักขึ้นบนใบหน้าบริเวณจุด T-Zone อย่างสิวขึ้นหน้าผากหรือสิวฮอร์โมนที่คาง บางรายอาจพบว่ามีสิวที่หลังร่วมด้วย หากไม่รีบรักษาสิวอาจเกิดการอักเสบมากกว่าเดิมและมีโอกาสลุกลามไปบริเวณอื่น ๆ ได้ค่ะ

ฮอร์โมนเกี่ยวข้องอย่างไรกับสิว 

หากอยู่ในช่วงสภาวะไม่สมดุลหรือมีการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอนโดรเจน (Androgen) มากขึ้น เมื่อฮอร์โมนชนิดนี้มีปริมาณสูงกว่าฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ ในร่างกาย ก็จะยิ่งกระตุ้นการสร้างซีบัม (Sebum) หรือน้ำมันในผิวมากขึ้นตามไปด้วย หากรูขุมขนถูกอุดตันด้วยน้ำมัน เซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว ตลอดจนสิ่งสกปรกต่าง ๆ จะส่งผลให้ผิวหนังมีการอักเสบหรือติดเชื้อจากแบคทีเรียจนเกิดสิวฮอร์โมนในที่สุด

นอกจากนี้ การมีความเครียดสะสมเป็นเวลานานส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนคอร์ติโซล (Cortisol) ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันเพิ่มการผลิตน้ำมันออกมาจนผิวหน้ามัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสิวฮอร์โมนนั่นเอง 


ประเภทของสิวฮอร์โมน

สิวฮอร์โมนมีกี่ประเภท? ลักษณะสิวฮอร์โมนเป็นอย่างไร? โดยทั่วไปแล้วสิวที่เกิดจากฮอร์โมนมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ขึ้นตามบริเวณใบหน้า บางรายอาจพบสิวฮอร์โมนที่หลังได้เช่นกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังต่อไปนี้ 

สิวอุดตัน 

สิวอุดตัน (Comedones) คือหนึ่งในสิวฮอร์โมนที่พบเห็นได้บ่อย เกิดจากน้ำมันและสิ่งสกปรกตกค้างบนผิว ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง, เครื่องสำอาง, เหงื่อ หรือเนื้อเยื่อที่ตายแล้วอุดตันในรูขุมขน สิวฮอร์โมนประเภทนี้มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็ง หากมีขนาดเล็กจะคล้ายกับสิวผดนั่นเอง เมื่อสัมผัสจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่จะรู้สึกเลยว่าผิวไม่เรียบเนียน และจะยิ่งเห็นชัดเจนหากเป็นสิวที่คางหรือสิวขึ้นแก้มค่ะ

นอกจากนี้ สิวฮอร์โมนอย่างสิวอุดตันยังสามารถแบ่งตามลักษณะหัวสิวได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

  • สิวอุดตันหัวดำ (Blackhead Comedones) เรียกสั้น ๆ ว่าสิวหัวดำ สังเกตได้จากหัวสิวอุดตันเป็นสีดำ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนหากมีสิวบนใบหน้า เกิดจากสิ่งอุดตันถูกสัมผัสกับอากาศจนทำปฏิกิริยาให้หัวสิวมีสีดำนั่นเอง หากปล่อยไว้นานจะส่งผลให้รูขุมขนกว้างได้ค่ะ
  • สิวอุดตันหัวขาว (Whitehead Comedones) มีลักษณะเป็นสิวหัวขาว เกิดจากการอุดตันของเชื้อแบคทีเรียในรูขุมขน บริเวณที่พบสิวอุดตันหัวขาวบ่อยคือ สิวฮอร์โมนที่หน้าผากและสิวฮอร์โมนที่แก้ม หากไม่รีบรักษาอาจทำให้สิวชนิดนี้กลายเป็นสิวอักเสบได้

สิวอักเสบนูนแดง

สิวอักเสบนูนแดง (Inflammatory Ance) เป็นสิวฮอร์โมนที่เกิดจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น เชื้อแบคทีเรียชนิด P.acnes และสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขนที่กระตุ้นผิวหนังให้เกิดการอักเสบ ตลอดจนหนึ่งในสาเหตุสำคัญอย่างระดับฮอร์โมนในร่างกาย หากไม่สมดุลก็ทำให้เกิดสิวอักเสบชนิดนี้ได้ โดยปกติแล้วสิวอักเสบจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรืออาจเป็นสิวหัวหนองที่มีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ได้ 

เมื่อสัมผัสสิวฮอร์โมนประเภทนี้จะรู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดการระคายเคืองเล็กน้อย จึงควรหลีกเลี่ยงการกดสิวด้วยตัวเอง เพราะนอกจากจะทำให้สิวอักเสบมากกว่าปกติและอาจลุกลามไปบริเวณอื่น ๆ แล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดรอยแดงจากสิว ทำให้ต้องรักษารอยสิวด้วยการเลเซอร์รอยสิวเพิ่มเติมอีกด้วย

สิวหนอง

สิวหัวหนอง (Pustules) เป็นสิวฮอร์โมนประเภทหนึ่งที่มีตุ่มหนองสีขาวเหลืองบนหัวสิวอย่างชัดเจน ผิวบริเวณรอบ ๆ สิวจะบวมแดง หากสัมผัสจะรู้สึกเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยค่ะ ซึ่งหนอง (Pus) เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวกับเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว นอกจากนี้ สิวหนองอาจเกิดมาจากสิวอุดตันหรือจากการสัมผัส กด บีบ หรือแคะใบหน้าเป็นประจำ ซึ่งทำให้สิ่งสกปรกตกค้างในรูขุมขนจนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบกลายเป็นสิวหนองได้ค่ะ 

สิวหัวช้าง 

สิวฮอร์โมนอย่างสิวหัวช้าง (Nodulocystic Acne) เป็นอีกหนึ่งสิวอักเสบที่มองเห็นได้ง่าย เพราะมีการอักเสบอย่างรุนแรงและเป็นสิวเม็ดขนาดใหญ่ เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าสิวไม่มีหัวเป็นไต สาเหตุการเกิดสิวอาจมาจากการทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ ทำให้ผลิตไขมันออกมามากเกินความจำเป็น ซึ่งนำมาสู่การเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่นั่นเอง

วิธีรักษาสิวฮอร์โมนประเภทนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการบีบเหมือนสิวทั่ว ๆ ไป เพราะอาจทำให้สิวอักเสบรุนแรงมากขึ้น และอาจทิ้งรอยแดงหรือรอยดำจากสิวหลังรักษาหายได้ค่ะ


สิวฮอร์โมนเกิดจากอะไรบ้าง? 

สิวฮอร์โมนเรื้อรัง

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายส่งผลให้เกิดสิวฮอร์โมนได้ง่าย ซึ่งสิวชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยระดับฮอร์โมนในร่างกายที่อยู่ในภาวะไม่สมดุลจนทำให้เกิดสิวฮอร์โมนอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 

  • ช่วงประจำเดือน สำหรับผู้หญิงช่วงก่อนเป็นประจำเดือน 1 สัปดาห์ ฮอร์โมนในร่างกายจะผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ออกมามากกว่าปกติ ซึ่งกระตุ้นให้ผลิตซีบัมมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่ออารมณ์แปรปรวนทำให้เสี่ยงต่อการมีความเครียดสะสม จึงมีโอกาสเกิดสิวฮอร์โมนได้ง่ายค่ะ
  • พันธุกรรม การเกิดสิวมากหรือน้อยนั้น ส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมได้ หากสมาชิกในครอบครัวเป็นสิวง่ายหรือมีสิวค่อนข้างมาก ส่งผลให้แนวโน้มการเกิดสิวฮอร์โมนสูงขึ้นตามไปด้วย 
  • ความเครียดสะสม หรือการเกิดความวิตกกังวล อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย ซึ่งทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ 
  • ช่วงตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดสิวฮอร์โมนสูง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน
  • การรับประทานอาหาร การทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือไขมันอิ่มตัวอย่างไขมันสัตว์ น้ำมันหมู หรือเนย ไขมันเหล่านี้มีส่วนเข้าไปกระตุ้นให้ผิวเกิดการอักเสบกลายเป็นสิวได้
  • การดูแลความสะอาด หากใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าไม่สะอาดหรือล้างหน้าไม่ถูกวิธีอาจทำให้ใบหน้ามีสิ่งสกปรกตกค้างและมีความมันสะสมบนใบหน้า ยิ่งมีโอกาสเกิดสิวค่ะ

สิวฮอร์โมนเกิดขึ้นบริเวณไหนบ้าง? 

การเกิดสิวฮอร์โมนจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนในร่างกาย พฤติกรรมการใช้ชีวิต และวิธีการดูแลผิวของแต่ละบุคคล ซึ่งตำแหน่งที่มักพบสิวฮอร์โมนได้บ่อยมีดังนี้ค่ะ 

  • สิวที่แก้ม เป็นบริเวณที่เห็นสิวฮอร์โมนได้ชัดเจน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณแก้มส่วนบนและส่วนล่าง 
  • สิวที่หลัง ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้เกิดสิวที่หลังได้ เพราะหลังเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันค่อนข้างมาก 
  • สิวขึ้นรอบปาก เป็นสัญญาณเตือนบอกถึงการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย โดยสิวจะขึ้นบริเวณรอบ ๆ ริมฝีปาก 
  • สิวที่คาง เป็นบริเวณที่สิวฮอร์โมนเกิดขึ้นได้ง่าย นอกจากนี้ คางเป็นจุดที่ถูกสัมผัสบ่อย ทำให้สิ่งสกปรกตกค้างในรูขุมขนบริเวณคางได้ง่าย
  • สิวขึ้นตามแนวสันกราม ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลส่งผลให้เกิดสิวตามแนวสันกรามหรือบริเวณขากรรไกร บางรายอาจมีสิวขึ้นตามลำคอร่วมด้วย

ความแตกต่างระหว่างสิวฮอร์โมนกับสิวทั่วไป

ความแตกต่างระหว่างหลัก ๆ เลยก็คือ สาเหตุการเกิดสิว โดยการเกิดสิวฮอร์โมนมีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ผลิตออกมามากกว่าปกติในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง รวมถึงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนอย่างความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่สิวมักขึ้นในบริเวณเดิมซ้ำ ๆ อย่างคาง, แก้ม, ปาก หรือหลัง ต่างจากสิวทั่ว ๆ ไปอาจมีสาเหตุการเกิดได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สิ่งสกปรกตกค้างบนผิว หรือการอุดตันในรูขุมขน ซึ่งสิวทั่วไปสามารถขึ้นได้ทุกบริเวณบนใบหน้าและลำตัว


สิวฮอร์โมนมีวิธีรักษาอย่างไร?

สิวฮอร์โมนสามารถรักษาได้หลากหลายวิธี โดยพิจารณาตามประเภทสิว, ลักษณะสิว, อาการอักเสบ และสภาพผิวของแต่ละบุคคล ซึ่งควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง เพื่อแนะนำแนวทางการรักษาและวิธีรักษาที่เหมาะสม ซึ่งสิวฮอร์โมนมีวิธีรักษาดังนี้ 

การกดสิวฮอร์โมน 

สิวฮอร์โมนอย่างสิวอุดตันหรือสิวอักเสบสามารถรักษาได้ด้วยการกดสิว เป็นการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ (Comedone Extraction) ค่อย ๆ ใช้แรงกดเบา ๆ เพื่อดันให้หัวสิวหรือสิ่งอุดตันออกจากรูขุมขนนั่นเอง ทำให้สิวหลุดออกมาง่ายและรวดเร็วค่ะ อีกทั้งยังเป็นวิธีรักษาสิวฮอร์โมนที่ใช้ได้กับผู้ชายและผู้หญิงอีกด้วย แต่การกดสิวฮอร์โมนไม่ควรทำด้วยตัวเอง เพราะหากกดผิดวิธีอาจทำให้สิวเกิดการอักเสบรุนแรงมากกว่าเดิม และทำให้แบคทีเรียจากหนองกระจายไปยังวงกว้างได้

การใช้ยารักษาสิวฮอร์โมน

การใช้ยารักษาสิวฮอร์โมนมีแบบชนิดแต้มบนหัวสิวและชนิดรับประทาน ซึ่งเป็นกลุ่มยาเช่นเดียวกับยารักษาสิวอักเสบที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบ และการอุดตันของไขมันในรูขุมขนให้ลดน้อยลง อีกทั้งยังช่วยให้สิวฮอร์โมนแห้งไวอีกด้วย เช่น Doxycycline, Minocycline, Topical Antibiotic เป็นต้น แม้ยารักษาสิวเป็นหนึ่งในวิธีลดสิวฮอร์โมนที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่บางชนิดต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรโดยตรง 

การใช้ยาคุมกำเนิดรักษาสิวฮอร์โมน

การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบรับประทานเป็นยารักษาสิวฮอร์โมนในเพศหญิงที่ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายให้สิวขึ้นน้อยลงได้และควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล โดยยาคุมกำเนิดแต่ละชนิดต่างมีส่วนผสม ปริมาณ และการใช้งานแตกต่างกัน รวมถึงผู้มีโรคประจำตัวบางรายไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิด เช่น โรคความดันโลหิตสูง ลิ่มเลือดอุดตัน โรคหัวใจ เป็นต้น ผู้ที่ต้องการรักษาสิวฮอร์โมนด้วยวิธีนี้จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทาน 

การฉีดสิวฮอร์โมน 

การฉีดสิวฮอร์โมน (Cortisone Injections) เหมาะสำหรับผู้มีสิวอักเสบรุนแรงและมีขนาดเม็ดใหญ่อย่างสิวหัวช้าง หรือผู้มีสิวเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้ โดยเป็นการฉีดสารกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เข้าไปที่หัวสิวโดยตรง เพื่อลดอาการบวมแดงและอาการอักเสบให้สิวยุบตัวเร็วภายใน 2-3 วันหลังฉีด นอกจากนี้ สิวอุดตันที่มีขนาดใหญ่ก็สามารถฉีดสลายตุ่มก้อนแข็งใต้ผิวหนังได้เช่นกัน แต่วิธีดังกล่าวไม่ควรทำบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้ผิวเกิดหลุมสิวได้ค่ะ 

การเลเซอร์สิวฮอร์โมน 

การเลเซอร์สิวฮอร์โมนเป็นวิธีรักษาสิวที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันอย่างการเลเซอร์ด้วย  Dual Yellow laser เพราะสามารถรักษาสิวฮอร์โมนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีแนวโน้มทิ้งรอยสิวน้อยกว่าวิธีรักษาอื่น ๆ ซึ่งการเลเซอร์สิวเป็นการใช้แสงเลเซอร์ยิงเพื่อเปิดหัวสิวออก หลังจากนั้นค่อย ๆ กดสิวออกอย่างเบามือ เพื่อนำหนองหรือสิ่งอุดตันออกจากรูขุมขน ทั้งนี้ เลเซอร์สิวฮอร์โมนแต่ละรูปแบบมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน หากเป็นผู้มีผิวแพ้ง่ายควรปรึกษาวิธีการรักษาร่วมกับแพทย์ผู้มีประสบการณ์เลเซอร์

การฉายแสงลดสิวฮอร์โมน 

การฉายแสงลดสิวฮอร์โมนถือเป็นหนึ่งในการรักษาสิวที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบของสิวได้ดี โดยใช้แสงที่มีความยาวคลื่นในช่วงที่ตาสามารถมองเห็นได้ อย่างแสงสีฟ้าและสีแดงฉายแสงไปที่ผิวโดยตรง โดยแสงสีฟ้าจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ ส่วนแสงสีแดงจะช่วยปรับสภาพผิวให้เรียบเนียนและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้ผิว นอกจากจะจัดการปัญหาสิวได้ดีแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูผิวให้แข็งแรงและลดโอกาสเกิดสิวฮอร์โมนได้อีกด้วย แต่ควรรักษาควบคู่กับการใช้ยารักษาสิวฮอร์โมนค่ะ


การดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดสิวฮอร์โมน

สิวฮอร์โมน รักษาแบบธรรมชาติ

หนึ่งในวิธีลดการเกิดสิวฮอร์โมนก็คือ การเรียนรู้วิธีดูแลตนเองและการป้องกันสิวอย่างถูกต้อง เพื่อลดโอกาสการเกิดสิวฮอร์โมนและสิวชนิดอื่น ๆ ได้ในระยะยาว ซึ่งสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูงประเภทของทอดหรือของมัน เพื่อลดการกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนผิวซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดสิวฮอร์โมน 
  • ไม่ควรสครับหน้าหรือขัดผิวเป็นประจำในช่วงที่มีสิว เพราะนอกจากจะทำให้ผิวหน้าบางหรือแห้งมากขึ้นแล้ว ยังทำให้สิวเกิดความระคายเคืองจนเกิดการอักเสบได้ง่าย 
  • ในช่วงที่เป็นสิวฮอร์โมนให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิว หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมน้ำมัน เพราะอาจเพิ่มความมันให้ผิวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม
  • ไม่ควรสัมผัส, จับ, แกะ, แคะหรือบีบสิวบนใบหน้า เพราะจะทำให้สิ่งสกปรกจากมือตกค้างบนผิวหน้าเสี่ยงต่อการอุดตันในรูขุมขนได้ 
  • ล้างหน้าให้สะอาดหมดจด ด้วยการใช้คลีนซิ่งเช็ดเครื่องสำอางก่อน หลังจากนั้นใช้โฟมล้างหน้าทำความสะอาดอย่างเบามือ เพื่อขจัดคราบสิ่งสกปรกต่าง ๆ เพื่อลดการอุดตันในรูขุมขน 
  • ลดความเครียดด้วยการหากิจกรรมผ่อนคลายให้ตนเองอย่างการทำงานอดิเรก การออกกำลังกาย หรือเล่นโยคะ เพื่อคลายความวิตกกังวลและปรับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับคงที่

สรุป สิวฮอร์โมนเกิดจากอะไร? รักษาอย่างไรผิวเรียบเนียน ไม่ทิ้งรอย

สิวฮอร์โมนเป็นสิวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะช่วงที่ฮอร์โมนอยู่ในภาวะไม่สมดุล เช่น ช่วงมีประจำเดือน ช่วงการตั้งครรภ์ หรือช่วงที่มีความเครียดสะสม เป็นต้น ซึ่งเป็นสิวที่สามารถพบเจอได้บ่อยทั้งหน้าผาก, คาง, แก้ม และหลัง โดยสิวฮอร์โมนมีหลากหลายประเภท ผู้ที่มีสิวฮอร์โมนจึงควรรักษาสิวให้ถูกวิธีและเหมาะสมกับสภาพผิวตนเอง เพื่อให้ผิวกลับมาเรียบเนียน ไม่ทิ้งรอย

หากใครสนใจรักษาสิวฮอร์โมน ทางรมย์รวินท์คลินิกเรามีบริการรักษาสิวด้วยการเลเซอร์สิวจากทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนังโดยเฉพาะ ที่มีประสบการณ์การทำเลเซอร์สิวด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ตลอดจนให้คำปรึกษาเรื่องสิวฮอร์โมนและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผิวคุณได้ค่ะ 


[elementor-template id="15452"]

Related Posts