สิว
สิวข้าวสาร

สิวข้าวสาร ร่องรอยของผิวถูกทำร้ายที่ป้องกันได้ รักษาได้

เป็นสิวเม็ดขาว ๆ เล็ก ๆ ตามผิว อยู่รวมกันเป็นกระจุก ลักษณะดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่าคุณมี ‘สิวข้าวสาร หรือ สิวเม็ดข้าวสาร’ ขึ้นเสียแล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าสิวข้าวสารนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่สิวเหมือนกับสิวอุดตัน สิวอักเสบ แต่สิวข้าวสารคืออะไร แยกสิวข้าวสารกับสิวอื่น ๆ ออกได้อย่างไร มีวิธีรักษาไหม รมย์รวินท์จะพาคุณไปหาคำตอบกันในบทความนี้ค่ะ



แก้ไขความเข้าใจผิด! สิวข้าวสาร คืออะไรกันแน่?

สิวข้าวสาร ไม่ใช่สิว! แต่ถูกจัดเป็นซีสต์ชนิดหนึ่งที่มีไขมันและเคราตินอยู่ภายใน ซึ่งลักษณะภายนอกจะดูคล้ายคลึงกับสิวอุดตันหัวขาว แต่มักจะไม่มีอาการอักเสบหรือพัฒนาต่อไปเป็นสิวอักเสบแต่อย่างใด สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในทารกแรกเกิด เราสามารถพบสิวหัวข้าวสารได้มากกว่าครึ่งของจำนวนเด็กแรกเกิดทั้งหมด ซึ่งจะหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์

สิวข้าวสารมักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรง แต่หากมีจำนวนมากอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจได้ หรือในบางรายที่อาจเข้าใจผิดว่าสิวข้าวสารคือสิวอุดตัน และพยายามกดออก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และกลายเป็นแผลเป็น

ไขข้อข้องใจ สิวข้าวสารกับสิวหินคือสิ่งเดียวกันหรือไม่?

สิวข้าวสารและสิวหิน ต่างไม่ใช่สิวเช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกันด้วยสาเหตุในการเกิดโรค ลักษณะของโรค รวมถึงระยะเวลาในการหายค่ะ

โดยสิวข้าวสารเป็นซีสต์ไขมันที่เกิดขึ้นเอง และอาจเกิดขึ้นหลังจากที่ผิวถูกทำร้าย มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายสิวอุดตัน ส่วนใหญ่มักขึ้นรวมกันเป็นจุด ๆ ขึ้นได้ทุกบริเวณของผิวหน้า สามารถปล่อยไว้ให้หายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์โดยที่ไม่จำเป็นต้องรักษา

แต่สิวหิน เป็นเนื้องอกของต่อมเหงื่อ ที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพียงแค่สร้างความรำคาญและไม่สวยงามเท่านั้น ลักษณะที่เห็นจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ แข็ง ๆ สีเหลืองหรือขาว มักเกิดขึ้นรอบดวงตา แต่บางครั้งก็สามารถเกิดขึ้นบริเวณอื่น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งสิวหินอาจต้องทำการรักษาจึงจะหาย 


สิวข้าวสารเกิดจากอะไร 

ไปดูกันค่ะว่า สิวข้าวสารเกิดจากอะไรได้บ้าง?

  • การอุดตันของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว โดยธรรมชาตินั้น เซลล์ผิวของคนเราจะถูกผลัดออกและมีเซลล์ผิวใหม่เข้ามาแทนที่ แต่บางครั้งที่เซลล์ผิวที่ตายแล้วไม่หลุดลอกออกไป แต่ร่างกายก็ได้สร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาปกคลุม ทำให้เซลล์ผิวที่ตายถูกกลบ และไปรวมตัวกับเคราตินใต้ผิว จึงเกิดเป็นสิวข้าวสารขึ้น
  • ต่อมไขมันยังเจริญไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่เกิดสิวข้าวสารในเด็กทารกแรกเกิดค่ะ
  • การบาดเจ็บของผิวหนังจนทำให้ผิวหนังเสียหาย เช่น การขัดถูผิวหนังอย่างรุนแรง การเสียดสีบ่อย ๆ ผิวหนังอักเสบ หรือผิวเบิร์น เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
  • พันธุกรรม ในผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นสิวข้าวสารจะมีโอกาสเป็นสิวข้าวสารมากกว่าคนทั่วไป

สิวข้าวสาร กับแนวทางการรักษา

สิวเม็ดข้าวสาร

ถึงแม้ว่าสิวข้าวสารจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดหรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หลายคนก็ยังคงอยากจะกำจัดสิวข้าวสารออก ด้วยลักษณะที่เป็นเม็ดแข็ง ๆ อยู่บนผิวหน้า ทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน ไม่สวยงามค่ะ แต่จะกำจัดสิวข้าวสารออกก็ต้องรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดี และหลีกเลี่ยงโอกาสการติดเชื้อ ซึ่งวิธีรักษาสิวเม็ดข้าวสารมีดังนี้

เลเซอร์สิวข้าวสาร 

การรักษาสิวข้าวสารด้วยการทำเลเซอร์เป็นวิธีกำจัดสิวข้าวสารที่เห็นผลไว เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถลงไปทำลายซีสต์ได้ตรงจุด โดยแพทย์จะใช้เลเซอร์กลุ่ม CO2 หรือคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) ยิงเข้าไปตรงที่เป็นสิวข้าวสาร หลังจากรักษาอาจพบรอยแดงหรือตกสะเก็ด แต่จะสามารถจางหายได้โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ค่ะ

เลเซอร์สิวมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร เหมาะกับการรักษาสิวประเภทไหนบ้าง ตามไปอ่านกันได้ที่บทความ เลเซอร์สิว ตัวช่วยในการรักษาสิวอุดตัน สิวอักเสบ ที่ดีที่สุด

การใช้ยารักษาสิวข้าวสาร

ยารักษาสิวข้าวสารจะเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการผลัดเซลล์ผิว ยกตัวอย่างเช่น Retinoids, AHA, BHA เป็นต้น ซึ่งการผลัดเซลล์ผิวจะช่วยให้เซลล์ผิวที่ตายไปแล้วหลุดออกไปง่ายขึ้น และลดโอกาสการอุดตันในรูขุมขนนั่นเอง

การกดสิวข้าวสาร

สิวข้าวสารสามารถกำจัดได้ด้วยการกดสิวเม็ดข้าวสารเช่นเดียวกับสิวอุดตัน แต่อย่างไรก็ตาม ควรจะทำโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากในขั้นตอนการกดสิวข้าวสารอาจต้องใช้เข็มเจาะเปิดบริเวณรูขุมขนเพื่อให้สิวข้าวสารออกมาได้ ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ง่ายค่ะ


การดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดสิวข้าวสาร 

สาเหตุของการเกิดสิวข้าวสารมีทั้งรูปแบบที่เกิดขึ้นเองตามสภาพผิวของแต่ละคน และการเกิดสิวข้าวสารจากผิวถูกทำร้าย ซึ่งเราสามารถดูแลและป้องกันเพื่อลดโอกาสเกิดสิวข้าวสารได้ดังนี้

การรักษาความสะอาดของใบหน้าเป็นประจำ

ผิวชั้นนอกของคนเราจะมีการผลัดออกและเกิดเป็นผิวใหม่ขึ้นอยู่ตลอด ซึ่งการทำความสะอาดอย่างเหมาะสมจะช่วยให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วหลุดออกได้ง่าย และลดโอกาสอุดตันในรูขุมขน อันเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิวข้าวสารและสิวชนิดอื่น ๆ ค่ะ

การขัดผิว เร่งการผลัดเซลล์ผิว

ในบางครั้ง การล้างหน้าเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วหลุดออกจากผิวไม่หมด การขัดผิวเบา ๆ จะช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวเก่าและเผยผิวใหม่ที่สดใส ลดการอุดตันได้ดีค่ะ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรขัดผิวแรงและบ่อยจนเกินไป เนื่องจากอาจเป็นการทำร้ายผิวจนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิวข้าวสารค่ะ

ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เสริมเกราะป้องกันผิว ให้ผิวแข็งแรง 

อย่างที่ทราบกันว่า หนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิวข้าวสารก็คือการที่ผิวแพ้ง่าย อ่อนแอ และถูกทำร้ายจนไปกระตุ้นสิวข้าวสารขึ้น ดังนั้น การป้องกันการเกิดสิวข้าวสารที่ต้นเหตุคือการเสริมสร้างให้ผิวแข็งแรง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันผิว มีความอ่อนโยน ไม่ทำร้ายผิวค่ะ


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวข้าวสาร

สิวข้าวสาร เป็นตรงไหนได้บ้าง?

สิวข้าวสาร สามารถเกิดขึ้นได้บนผิวทุกส่วนค่ะ แต่บริเวณผิวหน้าจะพบได้บ่อย เช่น สิวข้าวสารเปลือกตา สิวข้าวสารใต้ตา

สิวข้าวสาร เป็นอันตรายไหม?

สิวข้าวสารไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด เพียงสร้างความรำคาญและความไม่มั่นใจของผู้ที่เป็นสิวข้าวสารเท่านั้น

สิวข้าวสารสามารถหายเองได้ไหม?

ปกติแล้ว สิวข้าวสารสามารถหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์โดยที่ไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากมีสิวข้าวสารขึ้นเป็นระยะเวลานานและไม่หายสักที ควรเข้ามาปรึกษากับแพทย์ผิวหนังจะดีที่สุด

รักษาสิวข้าวสารไปแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำไหม?

ถึงแม้ว่าจะกำจัดสิวข้าวสารไปตามวิธีที่แนะนำไปแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดสิวข้าวสารซ้ำได้ ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคนค่ะ


สรุป สิวข้าวสาร ไม่ใช่สิว ไม่อันตรายแต่สร้างความรำคาญ

สิวข้าวสาร ไม่ใช่สิวอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นซีสต์ไขมันที่เกิดขึ้นได้เอง หรืออาจเกิดขึ้นจากผิวที่อ่อนแอถูกทำร้ายค่ะ ซึ่งสิวข้าวสารไม่ได้เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่หากต้องการรักษาสิวข้าวสารก็สามารถทำได้โดยการใช้เลเซอร์หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิว ทั้งนี้ หากมีความกังวลใจก็สามารถเข้ามาปรึกษากับแพทย์ผิวหนังได้ที่รมย์รวินท์คลินิกทุกสาขา ใกล้บ้านคุณค่ะ


อ้างอิง

Cleveland Clinic medical professional. (2022, October 8). Milia. Cleveland Clinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17868-milia

Gallardo Avila, PP. & Mendez, MD. Milia. (2023, January 31). In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560481/
Seymour, T. & Grayland-Leech, B. (2024, January 15). How can I get rid of milia? Medical News Today.
https://www.medicalnewstoday.com/articles/320953#types-and-causes


[elementor-template id="15452"]

Related Posts