เคยสงสัยกันไหมว่าสิวที่ขึ้นบนใบหน้าเป็นเม็ดเล็ก ๆ แต่ไม่มีหัวคล้ายสิวอุดตันนั้นคือสิวอะไร? ควรกดออกหรือไม่? สิวชนิดนี้เราเรียกกันว่า “สิวหิน” ซึ่งเป็นปัญหากวนใจใครหลาย ๆ คน เพราะนอกจากจะเห็นชัดแล้ว หากรอให้หายเองก็อาจใช้ระยะเวลานานกว่าสิวชนิดอื่น ๆ เลยทีเดียว ดังนั้น รมย์รวินท์คลินิกจะขอพาคุณมาทำความรู้จักสิวหินคืออะไร และเรียนรู้วิธีการกำจัดสิวหินที่ถูกต้องในบทความนี้ไปพร้อม ๆ กันค่ะ
สิวหินคืออะไร?
สิวหิน หรือ Syringoma คือ เนื้องอกที่เกิดขึ้นจากต่อมเหงื่อที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นตุ่มเนื้อนูนสีขาวขุ่นหรือสีเหลืองในผิวหนังชั้นหนังแท้ มีขนาดเล็กประมาณ 1-3 มิลลิเมตร หลาย ๆ เม็ดคล้ายกับสิวผด แต่มีลักษณะแข็งและไม่มีอาการเจ็บเหมือนสิวอักเสบและสิวเห่อนั่นเอง ซึ่งเนื้องอกหรือสิวชนิดนี้ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย เพียงแต่อาจสร้างความไม่มั่นใจให้กับคุณเพราะทำให้ผิวไม่เรียบเนียนค่ะ
สิวหินกับสิวข้าวสาร ต่างกันอย่างไร?
แม้สิวหินและสิวข้าวสารจะมีลักษณะภายนอกคล้ายกัน แต่สิวทั้ง 2 ชนิดมีสาเหตุการเกิด, ระยะเวลาการรักษา, บริเวณที่เป็นสิว รวมถึงช่วงอายุของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน โดยสิวหินมักพบเจอในช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไป ซึ่งเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรมหรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานในการรักษาสิวหิน ในขณะที่สิวข้าวสารเป็นกลุ่มซีสต์ที่สามารถพบได้ทุกวัยตามบริเวณใบหน้า ได้แก่ แก้ม หน้าผาก โดยเกิดจากเซลล์ผิวที่ตายแล้วหรือสิ่งสกปรกตกค้างบนใบหน้า ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์
สิวหินมีสาเหตุเกิดจากอะไร?
โดยทั่วไปแล้วหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสิวบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิวที่คางหรือสิวขึ้นแก้ม ก็คือ การมีสิ่งสกปรกตกค้างบนใบหน้า แต่สำหรับสิวหินนั้นมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างจากสิวชนิดอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่ในวงการแพทย์ผิวหนังคาดการณ์การเกิดสิวหินได้หลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้
- ความผิดปกติทางผิวหนัง เนื่องจากเส้นใยเคราตินใต้ผิวหนังถูกสะสมและรวมตัวกับต่อมไขมันเป็นระยะเวลานาน หรือต่อมเหงื่อทำงานหนักจนเกิดการแบ่งเซลล์ผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นสิวไม่มีหัวเป็นไต
- อาการบาดเจ็บทางผิวหนัง สิวหินเกิดจากการมีผิวหนังอักเสบได้ไม่ว่าจะเป็นแผลพุพอง ผื่นแดง หรือแผลไหม้รุนแรง อีกทั้งการขัดผิวหรือสครับผิวก็เป็นการทำให้ผิวถูกเสียดสีบ่อย ส่งผลให้รูขุมขนและต่อมไขมันถูกรบกวนจนกระตุ้นให้เกิดสิวหินค่ะ
- กลุ่มโรคทางผิวหนัง ผู้เป็นมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่มีอาการการ์ดเนอร์ (Gardner Syndrome) หรือเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมก็มีโอกาสเกิดสิวหินได้เช่นกัน
- การใช้ยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง ยาบางชนิดหากใช้เป็นประจำอาจทำให้เกิดสิวหินได้ โดยเฉพาะกลุ่มยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ ฟลูออโรยูราซิล หรือไฮโดรควิโนน เป็นต้น
สิวหินมักเกิดขึ้นบริเวณไหนบ้าง?
แน่นอนว่าสิวหินมักถูกพบบ่อยบริเวณใบหน้า เพราะเป็นจุดที่มีต่อมเหงื่ออยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สิวชนิดนี้สามารถขึ้นบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งคุณอาจพบสิวหินขึ้นบนใบหน้าและร่างกายตามตำแหน่งเหล่านี้
- สิวหินที่ตา เป็นบริเวณที่มีโอกาสเกิดสิวหินได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่มักพบเห็นใต้ตาและเปลือกตา ซึ่งบริเวณนี้รักษาค่อนข้างยากเนื่องจากผิวมีความบอบบางและอยู่ใกล้ดวงตา
- สิวหินที่หน้าผาก เป็นบริเวณที่มีการหลั่งเหงื่อและน้ำมันจากผิวออกมาค่อนข้างมากทำให้เป็นจุดที่เกิดสิวหินและสิวชนิดอื่น ๆ ได้บ่อย
- สิวหินที่แก้ม มักขึ้นตามช่วงโหนกแก้มเป็นส่วนใหญ่ เป็นจุดที่มองเห็นสิวบนใบหน้าได้ชัดเจน
- สิวหินที่จมูก อีกหนึ่งบริเวณที่ผิวผลิตน้ำมันออกมามาก โดยอาจพบสิวหินได้ตามช่วงข้างจมูกและสันจมูก
- สิวหินที่แผ่นหลัง สิวที่หลังอาจเกิดจากพฤติกรรมการออกกำลังกายหรือการสวมเสื้อผ้ารัดแน่นจนเกินไป ทำให้แผ่นหลังอับชื้นจนต่อมเหงื่อกับเนื้อเยื่อรวมตัวกันเกิดเป็นเนื้องอกใต้ผิวหนัง
- สิวหินที่หน้าอก เช่นเดียวกับการเกิดสิวหินที่หลัง เพราะบริเวณหน้าอกมีการผลิตเหงื่อออกมาเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการอับชื้นและผิวเสียดสีกับเนื้อผ้า
สิวหินมีวิธีรักษาอย่างไรให้เห็นผล
วิธีรักษาสิวหินมีมากมายตั้งแต่วิธีง่าย ๆ อย่างการใช้ยาทาไปจนถึงการเลเซอร์สิว โดยแต่ละวิธีควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนังเฉพาะทาง เพื่อให้ผลการรักษาสิวหินมีประสิทธิภาพและเห็นผลชัดเจน ซึ่งสิวหินมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้
เลเซอร์สิวหิน
การเลเซอร์สิวหินเป็นวิธีรักษาสิวหินที่นิยม โดยจะใช้เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) ในการเปิดหัวสิวก่อน หลังจากนั้นแพทย์จะทำการกดหัวสิวออกมา ซึ่งวิธีนี้เป็นการกำจัดสิวหินที่เกิดรอยแผลและรู้สึกเจ็บน้อยที่สุด มีเพียงอาการบวมแดงเล็กน้อย อีกทั้งยังสามารถรักษาสิวหินที่เปลือกตาซึ่งเป็นบริเวณที่ผิวบอบบางได้อีกด้วย
การจี้สิวหินด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า
สิวหินสามารถรักษาด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้าได้ โดยเป็นการใช้ความร้อนจากไฟฟ้าเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นสิวหิน หลังจากนั้นจึงค่อยกดเอาเนื้องอกสิวหินออก ซึ่งการจี้สิวหินสามารถทำลายถึงเส้นเลือดในก้อนเนื้องอกและให้ผลลัพธ์หลังรักษาคล้ายกับการเลเซอร์สิว ช่วยลดโอกาสการเกิดรอยช้ำและรอยแผลเป็น
การใช้ยารักษาสิวหิน
โดยทั่วไปแล้วยารักษาสิวหินจะมีส่วนผสมของกลุ่มไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) ไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid) หรืออาซิเทรติน (Acitretin) ที่มีคุณสมบัติช่วยเร่งผลัดเซลล์ผิว ซึ่งยาชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทยาอันตรายที่อาจก่อให้ผิวระคายเคืองอย่างรุนแรงได้ ผู้ที่มีสิวหินบนใบหน้าจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้านผิวหนังเฉพาะทาง
แต่อย่างไรก็ตาม สิวหินเป็นเนื้องอกที่อยู่บริเวณผิวชั้นหนังแท้ ซึ่งการใช้ยารักษาสิวหินอาจให้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่พึงพอใจได้ค่ะ
การกดสิวหิน
การกดสิวหินเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาสิวหินที่ง่ายและรวดเร็ว ด้วยการใช้เข็มจิ้มลงไปบริเวณหัวสิวเพื่อทำการเปิดหัวสิว แล้วค่อยใช้ไม้กดสิวทำการกดสิวออกมาอย่างเบามือ ซึ่งวิธีนี้ไม่ควรกดสิวด้วยตนเองเพราะอาจใช้น้ำหนักในการกดแรงจนเกินไปจนอาจเกิดเป็นรอยดำจากสิวและรอยแผลเป็นหลังทำ ทำให้ต้องรักษารอยสิวด้วยการเลเซอร์รอยสิวเพิ่ม ดังนั้น วิธีรักษาสิวหินรูปแบบนี้จึงควรให้แพทย์เป็นผู้กดสิวแทน
การผ่าตัดสิวหิน
การผ่าตัดสิวหินเหมาะสำหรับผู้มีสิวขนาดใหญ่ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยการกดหรือวิธีรักษาสิวหินอื่น ๆ ได้
แม้วิธีนี้จะสามารถกำจัดสิวหินออกจากผิวหนังได้ทั้งหมด แต่หลังทำมีความเสี่ยงทำให้เกิดแผลเป็นได้ง่ายและมีโอกาสผิวติดเชื้อ ดังนั้น หลังผ่าตัดสิวหินควรดูแลผิวเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดและห้ามโดนน้ำอย่างน้อย 3 วัน
การดูแลและป้องกันไม่ให้เป็นสิวหิน
การเรียนรู้วิธีดูแลผิวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิวหินนับเป็นหนึ่งวิธีแก้ปัญหาสิวและลดการเกิดสิวในระยะยาวได้ โดยวิธีดูแลกับป้องกันสิวหินที่ใต้ตาหรือบริเวณอื่น ๆ บนใบหน้าสามารถทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนต่อผิวแพ้ง่าย ลดโอกาสการระคายเคืองจนไปรบกวนต่อมเหงื่อ
- เลือกทำหัตถการที่ช่วยเสริมผิวให้แข็งแรงและช่วยกระชับรูขุมขน อย่างการฉีดเมโสหน้าใส ฉีด Rejuran และการฉีดมาเด้คอลลาเจนเป็นหัตถการที่ช่วยฟื้นฟูผิวชั้นลึกได้เป็นอย่างดี ทำให้ผิวหน้าเรียบเนียน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าเพราะอาจกระตุ้นให้ผิวระคายเคืองจนเกิดการอักเสบ
- ไม่ควรขัดผิวหรือสครับผิวหน้าเป็นประจำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาผิวแห้งจนทำให้รูขุมขนกว้างได้ ส่งผลให้สิ่งสกปรกอาจเข้าไปตกค้างในรูขุมขนให้เกิดการอุดตันได้
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงใต้ตาที่ไม่มีสารระคายเคือง เพื่อลดโอกาสเกิดสิวหินที่ใต้ตา
สรุป สิวหินเกิดจากอะไร? สามารถรักษาได้อย่างไรบ้าง?
สรุปแล้ว สิวหินเกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมเหงื่อจนเกิดเป็นเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งหลาย ๆ เม็ดใต้ผิวหนังชั้นหนังแท้ โดยส่วนใหญ่แล้วมักขึ้นบนใบหน้าบริเวณรอบดวงตา แม้สิวชนิดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่ก็ส่งผลให้ผิวไม่เรียบเนียนจนสร้างความไม่มั่นใจให้กับคุณได้เช่นกันค่ะ จึงควรเรียนรู้วิธีป้องกันและการรักษาสิวที่เหมาะสม ซึ่งทางรมย์รวินท์คลินิกเรามีแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางที่พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีการรักษาสิวหินที่เหมาะกับสภาพผิวของคุณค่ะ